จำนวนผู้เข้าชม

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความเป็นมาการปกครองท้องถิ่นไทย “กรุงเทพมหานคร”
 
              ประมาณปี พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้จัดการปกครองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นนครหลวง แบบ Board of Councellership พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่มีความรู้ความเข้าใจงานปกครองท้องถิ่น รวมกันเป็นคณะกรรมการ Committee จัดบริหารนครหลวง คือ กรุงเทพมหานครในรูปแบบเทศบาล การทำงานของ คณะกรรมการ Committee ล่าช้า จึงทรงยกเลิกคณะกรรมการ Committee   ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ให้เสนาบดีกระทรวงเมืองต่อมา คือ กระทรวงนครบาล ปกครองบังคับบัญชามณฑลพระนคร ประกอบด้วยพื้นที่ พระนครธนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ สมุทรปราการ ธัญบุรี มีนบุรี

              ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้โอนกระทรวงนครบาลมารวมกับกระทรวงมหาดไทย ให้จัดตั้งตำแหน่งสมุหพระนครบาล ปกครองมณฑลกรุงเทพ  โดยใช้ระเบียบข้อบังคับพิเศษที่แตกต่างจากมณฑลอื่นๆ

              หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในปีต่อมาได้มีการประกาศยกเลิกมณฑล จัดให้มีระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็น จังหวัด อำเภอ ดังนั้น มณฑลกรุงเทพจึงถูกยกเลิกไปด้วย พื้นที่นครหลวง จึงเป็นเพียง จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี

              ในปี พ.ศ.2476 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล ได้กำหนดให้ท้องถิ่นที่จะยกฐานะการปกครองท้องถิ่นเป็นเทศบาลนครได้ ต้องมีขนาดประชากร 30,000 คนขึ้นไป และมีการกระจายตัวเชิงพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร

              ต่อมาในปี พ.ศ.2479 ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2480 เทศบาลนครกรุงเทพเริ่มเปิดดำเนินการ ส่วนเทศบาลนครธนบุรีเปิดดำเนินการ เมื่อ 21 เมษายน พ.ศ.2480 เทศบาลทั้งสองดำเนินการมาตลอดจนถึง พ.ศ.2514 จึงมีการรวมเทศบาลทั้งสองเข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ (รศ. สนธิ์ บางยี่ขัน, 2540:424) กำหนดให้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า “ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และมีรองผู้ว่าราชการ สองคน

              องค์กรของการปกครองนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียกว่า “สภานครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ฝ่ายบริหาร เรียกว่า “องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี”

             ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 25 ให้เหตุผลในการรวมเทศบาลนครกรุงเทพ กับเทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกันว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารราชการ และความสะดวกสบายของประชาชน สมควรจัดรูปแบบการปกครองเป็นพิเศษ เพื่อให้บริหารท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

             สมาชิกสภานครหลวง และผู้บริหารนครหลวง มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และให้ผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะบริหารในสถานภาพ นายกเทศมนตรี โดยตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ในการบริหารงาน ให้เป็นไปตามกำหมายว่าด้วยเทศบาล และตามข้อกำหนดของกระทรวงมหาดไทย และอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง  การดำเนินงานของเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรีสิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 1 ปี โดยมีการประกาศยกเลิกตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จัดการปกครองรูปแบบพิเศษ “กรุงเทพมหานคร” (Bangkok Metropolis) มีฐานะเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี การดำเนินกิจการได้รวมกิจการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง สุขาภิบาลนครหลวง เข้าด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การพัฒนานครหลวงมีประสิทธิภาพ ในทิศทางเดียวกัน

* ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้จัดรูปการปกครองจากนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเทศบาลนครหลวง มาเป็น "กรุงเทพมหานคร" โดยรวมกิจการ ของนครหลวงกรุงเทกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวง กรุงเทพ ธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาล ในเขตนครหลวงมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" และได้จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ เป็นลักษณะผสม ระหว่าง ราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ให้มีฐานะ เป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งโดย คณะรัฐมนตรี เป็น ผู้รับผิดชอบ   

             ต่อมาได้เกิดความไม่สงบในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ประกาศขึ้นใช้โดยมี มาตรา 16 บัญญัติว่า การปกครองท้องถิ่นทุกระดับรวมทั้งนครหลวง ให้มีสภาท้องถิ่นและผู้บริหาร หรือคณะผู้บริหารปกครองท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น

             ในปีพ.ศ.2518 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ขึ้นใน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518  มาตรา 6 ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานคร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นเขต และแขวงสำหรับพื้นที่เขต คือ อำเภอเดิม ส่วนพื้นที่แขวง คือ ตำบลเดิม และ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กำหนดให้กรุงเทพมหานคร เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระ คราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518
             
             แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะมิได้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปีทั้งนี้เพราะได้เกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถที่จะประสานกัน ได้จึงทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยคำสั่งของ นายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520

             ด้วยเหตุ ตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้กรุงเทพมหานครเข้ายุคแห่งการมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาจากการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ลงมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต ภายใน 30 วัน ซึ่งวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 สำหรับสมาชิกสภาเขต ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาเขต.

* แหล่งข้อมูล    http://www.mahadthai.com
ค้นจาก  http://school.obec.go.th
ค้นเมื่อ วันที่ 25  กันยายน  2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น